ชุมชนบ้านหัวทุ่ง จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนบ้านหัวทุ่ง

หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170

            ชุมชนบ้านหัวทุ่งตั้งอยู่ที่ ม.14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนซึ่งอยู่เชิงเขาของดอยหลวงเชียงดาวห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 85 กิโลเมตร ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ด้านหลังของหมู่บ้านจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามของดอยหลวงเชียงดาว มีประชากรอาศัยอยู่ด้วยกัน 150 หลังคาเรือน 454 คน นอกจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ชาวบ้านแล้ว (ลัวะ ไทลื้อ และคนยอง) ความหลากหลายของพืชพรรณก็ยังมีโดดเด่นควบคู่ไปกับวิถีชีวิตพื้นถิ่นด้วย ดังคำขวัญของชุมชนบ้านหัวทุ่งที่ว่า “ป่าสวยน้ำใส สมุนไพรขึ้นชื่อ เรื่องลือข่าวเศรษฐกิจ วิถีชีวิตจักรสาน สมานสามัคคี มีน้ำใจพัฒนา”

             ชุมชนบ้านหัวทุ่ง มีความโดดเด่นด้านธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ระหว่างแนวต่อเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำห้วยแม่ลุและห้วยละครที่ไหลลงสู่ลำน้ำปิง ทิศตะวันตกมีชายขอบของผืนป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านยังคงวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ที่นี่จึงเป็นชุมชนต้นแบบที่โดดเด่นในด้านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ป่าชุมชน การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ภายใต้กฎกติกาที่สมาชิกในชุมชนจัดทำร่วมกัน มีการใช้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน เช่น กิจกรรมบวชป่า พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำหรือต้นน้ำ การทำการเกษตรแบบไม่เผา การนำแก๊สชีวภาพจากขี้หมูมาใช้ในครัวเรือนเพื่อลดการใช้ฟืนในการหุงต้ม

             แต่ก่อนหน้านั้น ชุมชนบ้านหัวทุ่งเองก็เหมือนกับชุมชนอื่นๆ จำนวนมาก ที่เคยประสบปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชุม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นขึ้นที่การประกาศสัมปทานป่าไม้ ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า จากป่าเปลี่ยนเป็นนาไร่ ชาวบ้านหันมาทำไร่ข้าวโพด ทำไร่เลื่อนลอยกันหมด ป่าหมดสภาพ ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็งรัง ไม้เนื้อแข็งถูกตัดทำลาย บริษัทสัมปทานเอารถมาลากไม้ออกไป ทำให้ต้นไม้ใหญ่เริ่มหมด นอกจากไม้จะหมด บริเวณต้นน้ำที่เคยชุ่มชื้นก็แห้งผาก เมื่อต้นน้ำแห้งผาก ก็ส่งผลทำให้บริเวณปลายน้ำก็แย่ไปด้วย เมื่อไม่มีน้ำในการทำกิน การเกษตรก็ย่ำแย่ตาม

             กว่า 3 ปี ที่ชาวบ้านหันมาทำไร่เลื่อนลอย ผลจากการตัดไม้ทำลายป่าก็เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น น้ำกินน้ำใช้ที่เคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มแห้งขอด น้ำที่เราจะเอามาทำไร่ทำสวนตามฤดูกาลก็เริ่มแห้งหาย หมดสภาพ ตอนนั้นเอง พ่อหลวงจูได้มีการประกาศให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชุม หารือเรื่องการใช้น้ำ เพราะพบว่าน้ำจากต้นน้ำมีให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้กี่หลังคาเรือน ส่งผลทำให้เกิดความเดือดร้อนกันหลายบ้าน

             ในเวทีประชุม พ่อหลวงจูได้ประชุมขอร้องให้ชาวบ้านเลิกการบุกรุกทำลายป่า โดยเฉพาะขอให้อย่าไปทำไร่ที่บริเวณป่าต้นน้ำ โดยมีการแจ้งว่าหากมีคนเข้าไปทำก็จะปรับ และผลจากการหารือครั้งนั้นนำมาสู่การจัดตั้งหัวหน้าเหมืองฝาย โดยมีนายเป๊ง ศรีเงินเป็นหัวหน้าเหมืองฝาย คอยดูแลป่าต้นน้ำไม่ให้ใครทำอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า จำนวนคนปกป้องนั้น มีน้อยกว่าคนที่จ้องทำลายอยู่มาก ด้วยเหตุนี้เอง ความเชื่อในการขอให้ “ผี” ช่วยปกปักษ์รักษาแห่งน้ำและผืนป่า จึงถูกนำมาใช้ในการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ เพราะสำหรับชาวบ้านแล้ว พวกเขาจึงต้องเคารพและเชื่อในระเบียบกฎกติการ่วมกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันใช้สอยน้ำร่วมกัน สิ่งยึดเหนี่ยวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเคารพในระบบก็คือ ความเชื่อในผี ด้วยเชื่อว่าธรรมชาติมีผีปกปักษ์รักษาดูแล สิงสถิตย์อยู่ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติจึงต้องมีการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าว ขอขมาผีเหล่านั้น ให้ผีคอยช่วยดูแลฝายให้

             ในช่วงเดือนเก้าทางเหนือ คือ ช่วงประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ชาวบ้านจะทำการเก็บรวบรวมเงินเพื่อนำไปเลี้ยงผี โดยในการเลี้ยงผีจะเลี้ยงด้วยหมู ไก่ และเหล้า มีการเก็บเงินไปเลี้ยงผี  ปีละครั้ง เดือนเก้าเหนือ มิถุนายน ในการเลี้ยงหมู เหล้า ไก่ พิธีกรรมนี้ชาวบ้านสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งในการเลี้ยงผีนั้นแต่แต่ละบ้านที่ใช้น้ำร่วมกันจะมารวมกันเลี้ยงผี แต่ต่อมาจึงแยกกันเลี้ยง (“ผี” ที่มีการทำพิธีเลี้ยงผีนั้น จะมีทั้งผีฝาย ผีก็อด ที่จะต้องเลี้ยงด้วยไก่ พิธีบุญน้ำซับก็จะเลี้ยงด้วยไก่เช่นเดียวกัน และเลี้ยงผีขุนน้ำที่จะเป็นการทำบุญ)

             และจากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มชาวบ้าน ทำให้สภาพป่าและแหล่งน้ำค่อยๆ ฟื้นฟูจนสามารถกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นในอดีต ซึ่งบทเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ชาวชุมชนได้เรียนรู้และจำขึ้นใจ พร้อมทั้งถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นขึ้นอยู่กับ “การดำรงอยู่ของผืนป่า”

             และด้วยการสนับสนุนจากสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) โดยการนำเอาโครงการ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน” เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นโครงการที่นำจุดเด่นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตการพึ่งตนเองในชุมชน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ชาวต่างชาติ โดยมีการอบรมให้ความรู้ในการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยว อบรมชาวบ้านที่สนใจทำที่พักโฮมสเตย์ อีกทั้งวางแผนกิจกรรมกรรมการท่องเที่ยวร่วมกัน ชุมชนมีรายได้และสามารถกระจายรายได้ให้กับทุกกลุ่มในชุมชน

             ศิริวรรณ รู้ดี หนึ่งในกรรมการหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า ชุมชนบ้านหัวทุ่งมีทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากและเป็นแหล่งหารายได้เข้าชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชนคือ ความร่วมมือของคนในชุมชนที่สามารถรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ เช่น การตั้งกลุ่มสมุนไพร การปลูกป่าไผ่เศรษฐกิจ การสานก๋วย ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนปลอดจากการเผา กิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ ทำให้ชุมชนบ้านหัวทุ่ง กลายมาเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”

            “ชุมชนเรามีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี แต่เราก็ไม่ใช้เพียงอย่างเดียว เรายังปลูกทดแทนคืนให้กับธรรมชาติด้วย ทุกกิจกรรมในชุมชนจะเน้นการจัดการร่วมกันของชาวบ้าน เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม และหวงแหนทรัพยากรที่มีค่าของชุมชนและมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งด้วย”

            “รางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ” จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเครื่องการันตีให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติอยากมาเยือนที่นี่ จึงได้เกิด โฮมสเตย์จำนวน 5 หลังขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น

            รายได้จากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะถูกหักเพื่อไปสมทบเป็นเงินกองกลางพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนการจัดการเรื่องบ้านที่พักของนักท่องเที่ยวจะใช้ระบบเวียนกันไปใน 5 หลัง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของหมู่บ้านว่าหากมีปัญหา จะยกเลิกการจัดการทองเที่ยวทั้งหมด เพราะไม่อยากให้เกิดความแตกแยกภายในหมู่บ้าน ทั้งนี้ จะมีการคัดกรองผู้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวด้วย ส่วนใหญ่จะต้องมาเป็นครอบครัวซึ่งสามารถดูแลและควบคุมกันเองได้ และในแต่ละรอบปีก็จะรับนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่าธรรมชาติและไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านจนเกินไป

            การ ‘สานก๋วย’ อันเป็นผลผลิตต่อเนื่องของ ‘ป่าไผ่เศรษฐกิจ’ เพราะธรรมชาติเป็นต้นทุนสำคัญของหมู่บ้าน นอกจากป่าชุมชนแล้ว ที่นี่ยังมี ‘ป่าไผ่เศรษฐกิจ’ ที่ชาวบ้านจำนวน 94 ครอบครัวได้ช่วยกันปลูก ในพื้นที่ 42 ไร่ ของหน่วยทหารพัฒนาการพื้นที่ 32  เดิมพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านจึงเข้าไปขอเพื่อปลูกป่า‘ไผ่บงกาย’ ที่เป็นไผ่พื้นเมืองและไผ่เอนกประสงค์ หน่อกินได้รสชาติอร่อย เนื้อไม้แกร่ง เหนียว ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี

            พ่อถวิล ศรีเงิน เล่าว่าชาวบ้านที่นี่ ‘สานก๋วย’ หรือกระบุงกันแทบทุกหลังคาเรือน เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน เดิมทำนาเป็นอาชีพหลัก สานก๋วยเป็นอาชีพเสริม พอแก่ตัวลงสองตายายก็หันมาเอาดีทางการสานก๋วยแทน โดยใช้ไผ่ของหมู่บ้านที่ช่วยกันปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2542

            “แต่ละปีจะไปช่วยกันตัดต้นไผ่จากในป่า ตัดได้เท่าไร จะมาแบ่งเป็น 94 กองเท่าๆ กัน แล้วก็ติดหมายเลขไว้ จากนั้นให้แต่ละครอบครัวที่ร่วมกันปลูกมาจับฉลาก ได้เบอร์ไหนก็หอบไผ่กองนั้นกลับบ้านไป” พ่อถวิลเล่าให้ฟังขณะที่มือยังสานก๋วยพัลวัน

            บอลลูนแก๊สเพื่อแปรสภาพขี้หมูให้เป็นแก๊สชีวภาพ นอกจากนี้ ปัญหากลิ่นขี้หมูจากฟาร์มหมูที่อยู่มาก่อนจะมีหมู่บ้าน เมื่อมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น จึงคิดที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจัง โดยเริ่มต้นจากการสร้างเวทีประชาคมเพื่อหาความร่วมมือในการแก้ปัญหานี้ จนได้ข้อสรุปว่า สร้างบอลลูนแก๊สเพื่อแปรขี้หมูให้เป็นแก๊สชีวภาพ โดยอาศัยความร่วมมือกันของสามฝ่ายคือ เจ้าของฟาร์ม บริษัทอาหารหมูและชุมชน ในขณะนั้นมีเงิน SML ของหมู่บ้านประมาณสองแสนบาท ก็ใช้ไปกับโครงการนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 164 หลังคาเรือนที่ใช้แก๊สชีวภาพนี้เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน โดยเก็บเงินเข้ากองกลางครัวเรือนละ 40บาทต่อเดือนเพื่อเป็นค่าซ่อมบำรุง โดยแก๊สนี้จะเปิด-ปิดเป็นเวลา โดยเริ่มเปิดตั้งแต่ 16.00-08.00 น. ดังนั้นแต่ละครัวเรือนจึงต้องมีแก๊สสำรองไว้ด้วย นอกจากใช้เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน ช่วยลดกลิ่นที่เป็นมลภาวะทางอากาศแล้ว แก๊สชีวภาพนี้ยังมีบทบาทช่วยลดการปล่อยแก๊สมีเทน แก๊สเรือนกระจกได้ด้วย ซึ่งโครงการดีๆ นี้เกิดจากการจัดการร่วมกันของคนในชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้หมดไป

           จุดเด่นทางกายภาพที่สำคัญของชุมชนบ้านหัวทุ่งคือ การที่ทุกพื้นที่ในชุมชนสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวและดอยนาง ได้อย่างชัดเจนสวยงาม แต่จุดแข็งที่สำคัญกว่าคือการมีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกันของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็งและเป็นชุมชนต้นแบบที่มีหลายรางวัลการันตี อาทิ

           – หมู่บ้านปลอดการเผา

           – ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา

           – ชุมชนต้นแบบปลูกป่าครอบครัว

           – ชุมชนต้นแบบพลังงานสะอาด ชาติสดใส

           – ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

           – การรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ ท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบเชียงใหม่ (กรมการท่องเที่ยว)

           – ชุมชนต้นแบบโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ส่วนประสานโครงการพระราชดำริ)

           – ชุมชนต้นแบบโครงการ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I))

          จะเห็นได้ว่า ชุมชนบ้านหัวทุ่ง ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมมากสักเพียงใด แต่หากชาวชุมชนหวังแต่พึ่งสิ่งเหล่านี้เพียงอย่างเดียว โดยขาดการร่วมแรงร่วมใจในการทำนุบำรุงรักษา ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟู ก็คงเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่สิ่งเหล่านี้จะยืนยงอยู่คู่กับชาวชุมชนไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ในทางกลับกัน หากมีการวางมาตรการสร้างความสมดุล เปลี่ยนคำว่าคนพึ่งพิงป่า เป็นคนและป่าพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อนั้น ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นางศิริวรรณ รู้ดี (ผู้ใหญ่บ้าน)

หมายเลขโทรศัพท์ 086-184-9559

นางหล้า ศรีบุญยัง (ประธานกลุ่มแม่หญิง)

หมายเลขโทรศัพท์ 087-173-6478

ข้อมูลจาก : 1. Facebook : บ้านหัวทุ่ง เชียงดาว

                  2. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

                  3. สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                  4. เว็บไซต์ไทยหนีเที่ยว

                  5. เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) 

                  6. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เชียงใหม่ ประเทศไทย

ชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170

คลิกเพื่อขอเส้นทาง